โซเดียม อันตรายแฝงจากในอาหาร ทำลายสุขภาพ กว่าที่คิด
กินโซเดียมมากไปไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นคำที่หลายคนได้ยินมาบ่อยๆ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าโซเดียมนั้นคืออะไร แล้วเราได้รับโซเดียมเหล่านั้นมาจากไหน แล้วปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าเป็นโทษต่อทั้งสุขภาพระบบภายในร่างกายและสุขภาพผิว เราจึงจะพาคุณมาทำความรู้จักโซเดียมกันให้มากขึ้นเพื่อให้คุณได้ดูแลสุขภาพให้ดีแบบไกลโซเดียมกัน
โซเดียมนั้นเป็นเกลือแร่หรือแร่ธาตุชนิดที่มีความสำคัญต่อร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ จึงต้องอาศัยการทานเพิ่มจากอาหารเข้าไป ทั้งนี้โซเดียมนั้นไม่ได้หมายความถึงแค่เพียงเกลือ เพราะโซเดียมนั้นแฝงตัวในอาหารทุกชนิดที่เราทานเข้าไปแต่ปริมาณที่มีนั้นจะมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยโซเดียมจะมีความสำคัญต่อการทำงานของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ, ควมคุมการดูดซึมสารอาการต่างๆ ในไตและลำไส้เล็ก รวมถึงสมดุลน้ำและของเหลวในร่างกายเช่นเลือด จึงทำให้ปริมาณโซเดียมจึงส่งผลต่อความดันโลหิตนั่นเอง การที่ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมจะช่วยให้ระบบภายในสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต่อวันของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเพศ และอายุของแต่ละบุคคล โดยปริมาณโซเดียมที่ร่างกายรับได้สูงสุดต่อวันแบบที่ไม่เป็นอันตรายจะอยู่ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน
โซเดียมมากไปส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพผิวได้อย่างไร?
อะไรมากเกินไปย่อมไม่ดีทั้งนั้น ในกรณีที่ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปก็ส่งผลต่อการทำงานของไต เพราะโดยปกติแล้วหากมีโซเดียมมากเกินร่างกายต้องการ จะทําให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำ ไตก็จะทำงานเพื่อกำจัดเกลือและน้ำเหล่านั้นออกไป ซึ่งเป็นการสร้างภาระหนักให้กับไตจนเกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ร่างกายจะกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้น้อยลงจนกลายเป็นการคั่งค้างตามอวัยวะต่างๆ จนมีอาการบวมในบริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หัวใจและปอด ซึ่งจะทำให้เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก และเสี่ยงต่อการหัวใจวายมากขึ้น นอกจากนี้การที่ร่างกายรับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
โซเดียมกับปัญหาสุขภาพผิวนั้นสังเกตได้ไม่ยาก เนื่องจากอาการที่เห็นได้เด่นชัดได้หลายจุด ได้แก่ อาการบวมจากการคั่งค้างของน้ำและเกลือในบริเวณใบหน้า และถุงใต้ตา, อาการผิวแห้งขาดน้ำ หยาบกร้าน จนทำให้ผิวหน้าสร้างไขมันส่วนเกินจนรูขุมขนตันกลายเป็นปัญหาสิวตามมาอีกด้วย
เทคนิคไม่ลับดูแลตัวเองในการทานโซเดียมอย่างเหมาะสม
เห็นได้ชัดว่าการทานโซเดียมที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมากมาย ในระยะการดูแลเบื้องต้นเมื่อคุณทานปริมาณโซเดียมที่มากเกินไป ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นและลดการทานโซเดียมในมื้อต่อๆ ไป เพื่อให้ร่างกายจะกำจัดโซเดียมส่วนเกิน ให้น้ำในร่างกายกลับเข้ามาสู่ในสภาวะปกติ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ การจำกัดปริมาณโซเดียมที่ร่างกายที่ได้รับต่อวันจะทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีแข็งแรงทั้งภายในและสุขภาพผิว ลองหันมาปรับพฤติกรรมเหล่านี้กันดู
- เช็กปริมาณโซเดียมผ่าน Nutrition Fact : ปัจจุบันอาหารส่วนใหญ่นั้นมี Nutrition Fact ประกอบอยู่จึงทำให้คุณสามารถรู้ได้ว่าอาหารที่ทานเข้าไปมีปริมาณโซเดียมเท่าไหร่ และสามารถทานได้บ่อยมากน้อยแค่ไหน
- เลี่ยงการใช้เครื่องปรุงรสและผงชูรสจำนวนมากๆ ในการประกอบอาหาร : ในความจริงแล้วทั้งผงชูรสและผงปรุงรสต่างๆ ที่นำมาประกอบอาหารจะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเกลือ แต่รสชาติอาจจะไม่เด่นชัดเหมือนเกลือ จึงทำให้ใครหลายคนใส่เครื่องปรุงเหล่านี้ในปริมาณมากเกินไปเพื่อชูรสอาหาร ดังนั้นหากเป็นได้ก็ควรจะลดปริมาณหรือเลี่ยงการใช้จะดีกว่า
- เลี่ยงทานอาหารรสจัดจ้าน : ไม่ว่าจะเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด หวานจัด ก็ล้วนผ่านการปรุงรสอย่างมากเพื่อให้ได้รสเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทานอาหารนอกบ้านที่ไม่ได้ปรุงเองยิ่งทำให้ไม่รู้ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายจะได้รับเลย หากปกติแล้วเป็นคนชอบทานอาหารรสจัด อาจจะลดความจัดจ้านลงและทานสลับอาหารเมนูอื่นๆ ที่ไม่จัดเกินไปมาทนแทนบ้าง
- รับประทานอาหารสด เลี่ยงของแปรรูป : เพราะของแปรรูปได้มีการปรุงรสอย่างมากเพื่อการถนอมอาหารให้เก็บได้ระยะเวลานานๆ ดังนั้นจึงควรเลี่ยงอาหารแปรรูปต่างๆ ได้แก่ อาหารกระป๋อง, อาหารหมักดอง, อาหารเค็ม,อาหารตากแห้ง
- ลดการปรุงรสเพิ่มเติมด้วยน้ำจิ้มในมื้ออาหาร : พริกน้ำปลา คือหนึ่งในเครื่องปรุงที่ได้รับความนิยมในไทย ซึ่งมีโซเดียมสูงจากน้ำปลา แต่ใช่ว่าซอสอื่นๆ จะไม่มี เพราะทั้งซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ก็มีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
- เลี่ยงการซดน้ำซุป หรือซดให้น้อยลง : เนื่องจากน้ำซุปที่มีรสชาติแสนอร่อยนั้นมีปริมาณโซเดียมสูงมากจากเครื่องปรุงรสหรือซุปก้อนให้มีรสชาติกลมกล่อมนั่นเอง
นี่เป็นเพียง 6 เทคนิคง่ายๆ ในการปรับพฤติกรรมการกินของคุณให้ลดปริมาณโซเดียมที่มากเกินไป นอกจากนี้การดูแลร่างกายให้แข็งแรงก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย โดยคุณควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอด้วยเช่นกัน เพียงเท่านี้ร่างกายของคุณก็จะแข็งแรงลดความเสี่ยงที่โรคร้ายจะเข้ามาแล้วล่ะ
ที่มา
https://www.bumrungrad.com/en/health-blog/november-2015/dangers-consuming-too-much-salt-effect
https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1365